วันช้างไทย
18/03/2568
16

13 มีนาคม วันช้างไทย (Thai Elephant Day)
ช้างถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่มีความสำคัญในสังคมและวัฒนธรรมไทยมาอย่างยาวนาน คนไทยใช้ช้างเป็นพาหนะในการเดินทาง และนับเป็นยุทธปัจจัยอันสำคัญยิ่งของกองทัพในอดีต ช้างเผือกถือเป็นเครื่องหมายของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยจวบจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ช้างเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่บนธงชาติไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2398-2459 ก่อนที่จะมีธงไตรรงค์ใช้กันมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย เนื่องในวันช้างไทย พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดสงขลา จึงขอนำเหรียญที่ระลึกประจำจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งผลิตโดยกรมธนารักษ์ ที่ปรากฏสัญลักษณ์รูปช้าง รวมจำนวนทั้งสิ้น 9 จังหวัด มาฝากสมาชิกชาวเพจพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดสงขลา ทุกท่าน ส่วนจะมีจังหวัดใดกันบ้างไปชมกันเลยค่ะ


ช้างสีขาวใต้เมฆ เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรือง และอยู่เย็นเป็นสุข ช้างสีขาว หมายถึงนิมิตแห่งความรุ่งเรือง เนื่องจากพญามังรายทรงใช้ช้างเป็นกำลังสำคัญในการทำศึก


ช้างเผือกหันหน้าตรงในเรือนแก้ว หมายถึง ช้างที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ นำทูลเกล้าถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้ขึ้นระวางเป็นช้างเผือกเอกในรัชกาล ส่วนเรือนแก้ว หมายถึง ดินแดนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุด จนมีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ขึ้นในเมืองเชียงใหม่


รูปช้างในร่องน้ำ (ฮ่องน้ำ) หรือลำธาร ที่มาของการตั้งเมืองแม่ฮ่องสอน เกิดจากที่เจ้าแก้วเมืองมาออกจับช้างให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2368-2389) และได้รวบรวมชาวไทยใหญ่ให้มาตั้งบ้านเมืองเป็นหลักแหล่งขึ้น 2 แห่ง คือ ที่บ้านปางหมู และบ้านแม่ฮ่องสอน สาเหตุที่เรียกว่า แม่ฮ่องสอน เพราะได้มาตั้งคอกฝึกช้าง ณ บริเวณลำธารแห่งนี้


สุรินทร์เป็นเมืองช้างที่คนทั่วไปรู้จักกันดี เนื่องจากมีช้างมากมายตั้งแต่โบราณ ชื่อจังหวัดสุรินทร์ หมายถึง พระอินทร์ผู้เก่งกล้า ตราประจำจังหวัดประกอบด้วยพระอินทร์ประทับขัดสมาธิบนหลังช้าง หัตถ์ขวา ทรงตรี หัตถ์ซ้ายทรงพระแสงขอช้าง มีภาพสิ่งก่อสร้างแบบขอมที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของอิทธิพลขอมโบราณในแถบดินแดนที่อยู่เบื้องหลัง


สัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 4 งา เป็นสัญลักษณ์ที่มาจากตราเดิมของเทศบาลนครกรุงเทพ ซึ่งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพคนแรก พลเอกเจ้าพระยารามราฆพ ได้ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้ทรงคิดและทรงประทานตราสัญลักษณ์นี้


ช้างชูงวงเกี่ยวรวงข้าว สื่อว่าครั้งหนึ่งนครนายกเคยเป็นเมืองที่มีช้างมาก โดยปัจจุบันมีสถานที่และชื่อวัดที่เกี่ยวข้องอยู่หลายแห่ง อาทิ ตำบลท่าช้าง วัดท่าช้าง และอำเภอเมืองนครนายกเคยเป็นท่าข้ามของโขลงช้างมาก่อน ส่วนรวงข้าวและกองฟางนั้น หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร


เป็นจังหวัดเดียวที่มีช้างปรากฏอยู่ถึง 2 ช้าง เนื่องจากเป็นภาพการทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่า และบริเวณที่ทำยุทธหัตถีอยู่ในท้องที่อำเภอดอนเจดีย์


ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดตาก เป็นรูปพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงช้างหลั่งทักษิโณทกบนคอช้างเพื่อประกาศอิสระภาพจากพม่า ซึ่งเมืองตากถือเป็นด่านแรกที่พระองค์ทรงช้างยกทัพกลับเข้ามายังราชอาณาจักรไทย


ตราสัญลักษณ์รูปช้างเผือกประดับเครื่องคชาภรณ์อยู่ในวงกลม หมายถึง ช้างสำคัญคู่บุญในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ชื่อว่า "พระศรีนรารัฐราชกิริณีฯ" ซึ่งเป็นช้างพังเผือกที่พลัดจากแม่ช้างป่าบริเวณป่าเทือกเขากือซา ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส


- [ออนไลน์]. แหล่งที่มา เว็บไซต์สำนักราชบัญฑิตยสภา
- [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://mgronline.com/travel/detail/9510000024273
- วารสารทรัพย์สินมีค่าของรัฐ ฉบับที่ 45 ประจำเดือนตุลาคม 2566-มีนาคม 2567